พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสุพรรณบุรี


พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสุพรรณบุรีจัดตั้งขึ้นตามโครงการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประจำเมือง เมื่อปีพุทธศักราช 2538 เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อสนองแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ได้พระราชทานให้กรมศิลปากรเพิ่มสาขาวิชาอื่น ๆ ในการจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเพื่อให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ การจัดแสดงนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑสถานแห่งชิตสุพรรณบุรี มีลักษณะของการผสมผสานระหว่างการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ กับสื่อจัดแสดงประเภทต่าง ๆ เช่น หุ่นจำลอง สื่อโสตทัศนูปกรณ์ ฯลฯ เพื่อให้ผู้เข้าชมได้รับทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน

โดยห้องที่มีความเชื่อมโยงกับดนตรีในจังหวัดสุพรรณบุรีจะอยู่บริเวณชั้น 2 ของอาคาร มีทั้งหมด 3 ห้อง ได้แก่

1) ห้องบุคคลสำคัญ

จัดแสดงประวัติบุคคลสำคัญในอดีตของจังหวัดสุพรรณบุรีที่ได้ทำคุณประโยชน์นานัปการให้แก่จังหวัด และประเทศชาติ โดยหนึ่งในบุคคลสำคัญนั้น คือ คุณครูมนตรี ตราโมท บรมครูด้านดนตรีไทย

2) ห้องวรรณกรรมเมืองสุพรรณ

จัดแสดงเรื่องราวของวรรณกรรมสำคัญ 2 เรื่องที่เกี่ยวกับเมืองสุพรรณบุรี ได้แก่ เสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นเลิศประเภทกลอนเสภาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และโคลงนิราศสุพรรณ ซึ่งประพันธ์โดยสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วรรณกรรมทั้งสองเรื่องเปรียบเสมือนภาพสะท้อนวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสุพรรณบุรี และมีการจัดแสดงโดยใช้สื่อระบบสื่อโสตทัศนูปกรณ์ทำให้ผู้เข้าชมได้ยินเสียงเพลง การขับเสภาที่มีความไพเราะอย่างยิ่ง

3) ห้องเพลงพื้นบ้านเมืองสุพรรณ

เป็นการจัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของเพลงพื้นบ้านโดยใช้หุ่นจำลองระบบประกอบสื่อโสตทัศนูปกรณ์ ฉากการเล่นเพลงพื้นบ้านที่นิยมเล่นกันในงานเทศกาลต่าง ๆ เช่น เพลงอีแซว และเพลงเรือ โดยมีเนื้อหาของเพลงมักเกี่ยวข้องกับชีวิตจองคนที่ประกอบอาชีพเกษตร และภายในโซนถัดมาจะเป็นการจัดแสดงความเป็นและผลงานเพลงลูกทุ่ง โดยใช้ระบบสื่อโสตทัศนูปกรณ์เป็นตู้เพลงสำหรับกดฟังผลงานเพลงศิลปินเพลงลูกทุ่งชาวสุพรรณบุรีที่มีชื่อเสียงประกอบด้วย ก้าน แก้วสุพรรณ, สุรพล สมบัติเจริญ, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, สายัณห์ สัญญา, ศรเพชร เพชรสุพรรณ และพุ่มพวง ดวงจันทร์