จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีความโดดเด่นในเรื่องของสินทรัพย์ และอัตลักษณ์ทางด้านดนตรีเป็นอย่างมาก สุพรรณบุรีมีสายธารดนตรีที่เรียกได้ว่าเป็น “เบญจภาคีดนตรีสุพรรณ” ที่มีตั้งแต่ศิลปินแห่งชาติเพลงไทยเดิม พ่อเพลง-แม่เพลงพื้นบ้าน ราชา-ราชินีเพลงลูกทุ่ง ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต ไปจนถึงศิลปินเพลงสมัยใหม่ทั้งป๊อปร็อคไปจนถึงเพลงแร๊ป เรียกได้ว่าจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นบ้านของศิลปิน นักดนตรี คนดนตรีที่มีชื่อเสียงมากมายนับไม่ถ้วน “อู่ทอง สุพรรณภูมิ สุพรรณบุรี” เป็นชื่อของบ้านเมืองต่างยุคสมัยที่เจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องกันมายาวนานบนผืนแผ่นดินสุพรรณบุรีซึ่งล้วนมีความหมายเดียวกันคือ “แผ่นดินทอง” ที่สื่อถึงความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ทำให้สุพรรณบุรีเป็นพื้นที่รวบรวมประชากรกว่า 845,334 คน และมีกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 10 กลุ่มที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินนี้ ก่อให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมในจังหวัด และด้วยความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ สุพรรณบุรีจึงมีบทบาทหลักในบทประพันธ์/ วรรณกรรมระดับชาติอย่าง “ขุนช้าง-ขุนแผน” ที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการขับเสภา และเพลงไทยเดิมในสุพรรณบุรีที่เรียกได้ว่าเป็นสินทรัพย์ล้ำค่าที่จะต้องมีการสืบทอด และอนุรักษ์ไว้ให้แก่เยาวชนคนรุ่นหลังต่อไป สำหรับจังหวัดสุพรรณบุรีที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดประมาณ 77,667 ล้านบาท (ในปีพ.ศ. 2558) โดยมีความโดดเด่นที่ภาคเกษตรกรรม แต่หารู้ไม่ว่าความเป็นแผ่นดินเกษตรนี้เป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดดนตรีพื้นบ้านสุพรรณอย่าง “เพลงอีแซว” และมีหลายเสียงที่กล่าวกันว่า ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของดินสุพรรณนั้นส่งผลให้ชาวสุพรรณบุรีมีเนื้อเสียงที่ไพเราะ มีเอกลักษณ์หาใครจะเปรียบได้ ทำให้นักร้องชาวสุพรรณโดยเฉพาะนักร้องลูกทุ่งแต่ละท่านมีน้ำเสียงนุ่มนวล อ่อนหวาน เป็นที่จดจำให้แก่ผู้ฟังโดยทั่วไป หลังจากการที่ได้ซึมซับในเสียงดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีลูกทุ่ง ก่อให้เกิดการต่อยอดเป็นเพลงเพื่อชีวิตที่มีการประยุกต์ใช้ดนตรีสากลผนวกเข้าไว้กับวิถีชีวิตพื้นบ้านโดยทั่วไป และถึงแม้กาลเวลาจะผ่านไปสุพรรณบุรีก็ยังคงเป็นภูมิลำเนาเดิมของศิลปินเพลงยุคใหม่ที่มีชื่อเสียงมากมายที่เข้ามาเพิ่มความหลากหลายทางวัฒนธรรมดนตรีให้จังหวัดสามารถเชื่อมโยงกับฐานผู้ฟังในระดับสากลได้มากยิ่งขึ้น จากจุดเด่นทางด้านดนตรีนี้เองทำให้ปัจจุบันการพัฒนาเมืองสุพรรณเกิดการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาที่ร่วมกันบูรณาการในการยกระดับเศรษฐกิจ และสังคมของสุพรรณบุรีให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี (Creative City of Music) เพื่อที่จะได้เป็นการเปิดประเทศสู่สากล สร้างชื่อเสียงของสุพรรณบุรีให้ปรากฏอยู่บนแผนที่โลก และเพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนจังหวัดสู่ความเป็นเมืองแห่งความสุข (City of Happiness) ตามวิสัยทัศน์หลักของจังหวัดด้วย |