โครงการจัดทำแผนขับเคลื่อนจังหวัดสุพรรณบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี |
จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ที่มีกรอบแนวคิดที่สำคัญด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยใช้อัตลักษณ์และวัฒนธรรมของท้องถิ่นเพื่อยกระดับการพัฒนาเมือง พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพให้มีคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม มีความหลากหลาย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ สร้างความสามารถในการแข่งขัน สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นเมืองน่าอยู่ และก้าวสู่เมืองที่ได้รับการยอมรับในเวทีสากล การที่ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภูมิภาคอาเซียนได้นั้นจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาประเทศ เพื่อนำไปสู่การดึงดูดทางการลงทุนด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การเป็นศูนย์กลางของธุรกิจสร้างสรรค์ชั้นนำ ตลอดจนการเป็นจุดหมายใหม่ของนักสร้างสรรค์ กลุ่ม Startups และนักท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมที่แสวงหาวิถีชีวิตที่แตกต่างและได้ประสบการณ์ที่มีคุณค่า ที่ผ่านมาหลายประเทศได้ใช้กลไกในการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าวผ่านแนวทางการสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่น ด้วยการจัดงานเทศกาลต่าง ๆ และเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้อยู่ในระดับสากล ไปพร้อม ๆ กับการผลักดันให้แต่ละเมืองเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มีความเข้มแข็งและส่งเสริมการเชื่อมโยงเมืองท้องถิ่นสู่เครือข่ายระดับสากล โดยถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่ช่วยผลักดันธุรกิจสร้างสรรค์ในประเทศและท้องถิ่นกับตลาดโลก นอกจากนี้ยังนำไปสู่การสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งของผู้ประกอบการ สมาคม นักสร้างสรรค์ คนในท้องถิ่น และนักพัฒนาเมืองซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความแข็งแรงของอัตลักษณ์ ทำให้เกิดความสนใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้เป็นจำนวนมาก และด้วยจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นจังหวัดที่มีรากฐานและสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมทางด้านดนตรีที่มีความเข้มแข็ง และผสมกลมกลืนกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน ทั้งศิลปะ ดนตรีพื้นบ้าน ภาษาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ รวมทั้งยังเป็นจังหวัดที่ผลิตบุคลากรทางด้านดนตรีที่มีความสำคัญของประเทศมาอย่างช้านาน ไม่ว่าจะเป็นปูชณียบุคคลทางด้านดนตรี และศิลปินแห่งชาติของประเทศ หรือศิลปินนักดนตรีรุ่นใหม่ทั้งเพลงลูกทุ่ง และเพลงไทยสากลที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ดังนั้น การจัดแผนพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะ 5 ปี (พ.ศ.254 -2568) จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิบัติงาน และการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ช่วยให้การดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงาน และจังหวัดประสบผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับทิศทางและนโยบายการบริหารประเทศ รวมถึงการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ได้อย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งทรัพยากรบุคคล งบประมาณ และเวลา สามารถควบคุม ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบทิศทางที่กำหนด และเป็นข้อมูลในการปรับปรุงการดำเนินงานของจังหวัดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต |