แม่บัวผัน จันทร์ศรี

แม่บัวผัน จันทร์ศรี | ตำนานครูแม่เพลงอีแซว
 
นางบัวผัน จันทร์ศรี หรือที่เรียกติดปากในวงการว่า "แม่บัวผัน" นามสกุลเดิม โพธิ์พักตร์ เกิดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2463 พ่อชื่อดิน แม่ชื่อปาน ย่าชื่อเพิ้ง ตาชื่อเทียน ยายชื่อคล้ำ(พิกุลขาว) ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบบ้านห้วยโรง ตำบลห้วยคันแหลม อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เนื่องจากพ่อ อา และเครือญาติ มีอาชีพเล่นเพลงและทำนา ส่วนแม่ก็เป็นแม่เพลงสมัครเล่น เพราะฉะนั้น แม่บัวผันจึงเกิดมาท่ามกลางการว่าเพลง มีทั้งเพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงทรงเครื่อง เพลงพวงมาลัย เพลงเต้นกำ เพลงอีแซว จนแม้เพลงขอทาน เพลงกล่อมเด็ก ซึ่งเหล่านี้บวกกับอุปนิสัยชอบร้องรำทำเพลง แม่บัวผันจึงซึมซับไว้ซึ่ง ศิลปะการแสดงเล่นเพลงแบบเก่าทุกกระบวน แม่บัวผันเมื่อเป็นเด็กชอบติดตามพ่อไปฟังเพลงในที่ต่างๆ ครั้งหนึ่งเล่ากันว่า เคยแอบมุดลงไปอยู่ใต้ท้องเรือเมื่อพ่อออกไปเล่นเพลงเรือ กว่าที่พ่อจะรู้ก็ออกไปไกลเสียแล้ว จึงต้องยอมให้ไปตามใจสมัคร พอไปถึงงานเกิดการทะเลาะขว้างปากันระหว่างคนต่างถิ่น บวกกับพ่อเป็น นักเลงอยู่แล้ว พ่อเกรงว่าจะเป็นอันตราย จึงต้องเอาลูกสาว ซ่อนไว้ใต้ท้องเรือ ส่วนตัวเองเข้าตะลุมบอนเป็นพัลวัน ครั้นถึงคราวทอดกฐิน ทอดผ้าป่ามีเทศกาลไหว้หลวงพ่อโต วัดไชโยอ่างทอง และวัดป่าเลไลยก์สุพรรณบุรี แม่บัวผันก็ได้ไปร่วม ชุมนุมฟังผู้ใหญ่ ร้องเพลงเรือ เพลงโบราณ ก็ยิ่งทำให้รักชอบอยากเป็นเพลงมากขึ้น 
 
 
ในสมัยก่อน ตามบ้านนอกชนบท การเล่าเรียนยังไม่แพร่หลาย แม่บัวผันไม่ได้เรียนหนังสือเพราะเป็นลูกผู้หญิง ถึงได้เรียนก็คงยากลำบากเพราะ โรงเรียนที่เปิดสอน อยู่ที่บ้านห้วยคันแหลน วัดห้วยคันแหลน ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากห้วยโรง พ่อแม่ว่าต้องเดินไกล หน้าน้ำเรือก็ไปลำบาก จึงไม่ได้ เรียนหนังสือ แม่บัวผันจึงอ่านเขียนไม่ได้มาจนถึงปัจจุบันนี้ แต่ด้วยความมีมานะและรักเพลง แม่บัวผันจึงหัดเพลงเมื่ออายุประมาณ 13 ปี คือประมาณ พ.ศ. 2476 หลังจากที่ได้เลี้ยงน้องมาจนน้องช่วย ตัวเองได้แล้ว ตัวเองพอมีเวลาฝึกฝนอย่างจริงจังบ้าง คนที่เป็นครูเบื้องต้นคือน้องชายของพ่อชื่ออิน หรือแม่บัวผันเรียก อาอิน เหตุที่ไม่หัดให้โดยตรง เพราะท่านเป็นคนดุ สอนเที่ยวสองเที่ยวถ้ายังร้องไม่ได้พ่อมักตีแรงๆ ถึงพี่ชายแม่บัวผันที่ชื่อว่าบัวเผื่อนก็ต้องหัดกับอาอิน 
 
 
พ่อบัวเผื่อนถึงแก่กรรมแล้ว เมื่อ พ.ศ.2528 ซึ่งเป็นพ่อเพลงที่มีความ สามารถคนหนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 5-6-7 หรือแม้หลังจากนั้นมาหน่อย ในถิ่นชนบทภาคกลางนิยมฟังเพลง ไม่ว่าเพลงตามเทศกาลหรือเพลงอาชีพ ถึงหน้าน้ำก็ฟัง และเล่นเพลงเรือ หน้าเกี่ยวข้าวนวดข้าวเล่นเพลงเต้นกำ เพลงสงฟาง เพลงชักกระดาน ถัดไปหน้าสงกรานต์ เล่นเพลงพวงมาลัย ระบำบ้านไร่ กระทั่งเข้าฤดูทำนา ร้องแห่นางแมวขอฝน นอกจากนั้นก็เป็นเพลงระดับร้องเป็นอาชีพ มีเพลงฉ่อย เพลงทรงเครื่อง เป็นต้น ส่วนเพลงอีแซว ที่ได้ยินกันคุ้นหูนั้นเพิ่งมาเกิดทีหลัง โดยดัดแปลงมาจากเพลงยั่วสั้นๆ วงนายดิน นายอิน หัดเพลงฉ่อย และเพลงทรงเครื่องให้ลูกหลาน มีนายอินเป็นครูใหญ่ ถึงวันพฤหัสบดีก็ทำพิธีจับข้อมือศิษย์ ผู้ที่จะหัดเอาดอกไม้ ธูปเทียนไปถวายครู ครูจับข้อมือให้ทำท่ารำและต่อเพลงบทแรกๆให้ ต่อจากนั้นจึงเริ่มฝึกอย่างจริงจัง เนื่องจากเพลงฉ่อยเป็นเพลงมีขนบมีธรรมเนียมในการเล่น และจะร้องโต้ตอบกันนานเท่าไหร่ก็ได้ จะเป็นวันเป็นคืนหรือหลายคืนติดต่อกันก็ตาม เพราะฉะนั้นผู้ที่จะร้องเพลง ชนิดนี้เป็นอาชีพต้องมีเพลงตับต่างๆจำเอาไว้เป็นจำนวนมาก "ตับ" ในที่นี้ไม่เหมือนเพลงตับไทยเดิม แต่หมายถึงชุดต่างๆ บทต่างๆ เช่นตับผูกรัก ตับกระได ตับชิงชู้ ตับตีหมากผัว ตับแต่งตัว ตับเข้าบ้าน ตับเช่านนา ตับเช่าเรือ ฯลฯ ผู้เล่นเพลงจะต้อง จำเนื้อหาหลักๆไว้ให้ได้ทั้งเนื้อชายและเนื้อหญิง (ครูจะต่อให้ฝ่ายละ 20-30 บรรทัด หรือสั้นยาวหว่านั้น บางตับยาวเป็นร้อยๆบรรทัด) เมื่อต่างฝ่ายต่างจำได้แล้ว ถึงเวลาเล่นใครจะร้องชักไปเข้าตับใดก็สามารถร้องตามต่อกันได้ ยกเว้นแต่บางคนที่คิดตับใหม่ให้ตัวร้องเพียงคนเดียว อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ต้องมาตอบโต้ มักเป็นตับเล่าเหตุการณ์ เช่น ตับเสือไม้ ตับเสือฝ้าย ตับเครื่องบินตกที่อุทัยธานี ตับสงครามอินโดจีน ฯลฯ 
 
 
ต่อมาเมื่อจำตับและเนื้อหลักที่ครูสอนให้มาพอสมควรแล้ว ต่อจากนั้นแต่ละคนจะต้องใช้ปัญญาของตัวเองหมั่นท่องหมั่นจำเติมต่อ คิดดัดแปลง ยักเยื้องจนถึงขั้น "มุตโตแตก" คือเกิดปัญญาแตกฉานใครจะมาไม้ไหนก็ว่าแก้ได้หมด ไม่จำเป็นต้องว่าแต่เฉพาะที่ครูสอนมาโดยตรง ทั้งสามารถ แต่งบทใหม่โดยปฏิภาณขึ้นมาได้ ถึงตรงนี้ก็เป็นความยากลำบาก ถ้าไม่เก่งจริงแล้วก็คงเป็นได้เพียงแค่ลูกคู่หรือมือสอง ไม่อาจเรียกเป็น "พ่อเพลง" "แม่เพลง" ได้โดยเต็มปาก เปรียบการหัดเพลงและการเกิดมุตโตแตกก็เหมือนเราเรียนหนังสือ ก.ข. ซึ่งครูสอนให้เหมือนกันหมด รู้พยัญชนะ รู้สระ อ่านเขียนได้ แต่จะมีใครบ้างที่สามารถผันอักษรไม่กี่ตัวเหล่านั้นให้กลายเป็นนิยายเอก กลอนเอกๆ โวหารกล้าจับใจคนได้ ส่วนเพลงทรงเครื่อง เพลงชนิดนี้เกิดภายหลังเพลงฉ่อย แทนที่จะร้องโต้ตอบกันด้วยตับต่างๆดูโวหาร ดูไหวพริบ ก็จับเรื่องเล่นเป็นเรื่อง มีขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี ลักษณวงษ์ เป็นต้น แทนที่จะแต่งโจงกระเบนพาดสไบเฉยๆ ก็รัดองค์ทรงเครื่องเข้าไป มีปี่พาทย์ จึงเรียกว่า เพลงทรงเครื่อง การเล่นเพลงชนิดนี้ต้องจำเนื้อและเรียนรำ เรียนเจรจาจนชำนาญ อนึ่ง ก่อนจะเข้าเรื่องต้องเล่นเพลงฉ่อยซึ่งเป็นครูไปพักหนึ่ง ก่อนด้วย แม่บัวผันผ่านกระบวนการดังกล่าวข้างต้นโดยหัดร้องและเรียนรำ (เล่นเพลงทรงเครื่องต้องรู้หลักการรำ) โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ในระหว่างนั้น เมื่อมีเพลงออกงานครั้งใด แม่บัวผัน พี่ชาย และเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันก็จะต้องติดตามผู้ใหญ่ไปช่วยเป็นลูกคู่หรือเด็กรับใช้ช่วยแบกหามหีบห่อ สัมภาระต่างๆ 
 
 
แม่บัวผันออกเล่นงานคราวแรกๆ ได้ค่าแสดงงานละ 5 สตางค์บ้าง 10 สตางค์บ้าง เขาจ้างหาบหามเครื่องก็ไม่บ่น จากที่เคยเป็นลูกคู่ก็ขยับฐานะขึ้นตามความชำนาญ พอโตก็เล่นเพลงได้คล่องแคล่วยิ่งขึ้น นับกันว่าแม่บัวผันเป็นคนเก่งที่สุด ในบรรดาเพื่อน วัยเดียวกัน ถึงเวลาไหว้ครู (ร้องเพลงไหว้ครู ซึ่งเป็นเพลงเริ่มแรกจะเล่นเพลงฉ่อย มีความยาวมาก ) อาอินหัวหน้าวงก็ต้องให้แม่บัวผันไหว้ ทั้งๆที่ครูผู้หญิงของแม่บัวผันก็มีอยู่ คือ ยายสงวน ศรีสุวรรณ ที่แม่บัวผันเรียก "อาหงวน" เป็นบุคคลที่แม่บัวผันเคารพนับถือมากคนหนึ่ง วงเพลงนายอินตระเวนไปตามที่ต่างๆแล้วแต่จะมีใครหา หรือถึงหน้าเกี่ยวข้าวก็ตั้งวงเล่นเพลงเต้นกำ หน้านวดข้าวเล่นเพลงยั่ว 
 
 
 ซึ่งต่อมามีแคนเป่าประกอบแล้วพัฒนา มาเป็นเพลงอีแซว ช่วงนั้นแม่บัวผันอายุราว 16-17 ปี (ราว พ.ศ.2479) เพื่อนที่ชื่อนายฟุ้ง นายเกลี้ยง มาชวนเล่นเพลงอีแซวก็พลอยเล่นเพลงอีแซวไปด้วย เข้าหน้าน้ำไปเล่นเพลงเรือตามวัดต่างๆ หลังจากเล่นเพลงฉ่อย เพลงทรงเครื่องกับอาอิน และญาติๆอยู่พักหนึ่ง ด้วยความที่เป้นคนเก่งจึงมีครูวงอื่นชวนไปเล่นด้วย แม่บัวผันเห็นว่าถ้า ได้เรียนวิชาเพิ่มก็จะเป็นการดี จึงไปอยู่กับเขาด้วย ได้ไปอยู่กับแม่เชื่อมท่าดินแดง 1 ปี แม่อ่วม 1 ปี เป็นคนเล่นเพลงเก่งทั้งคู่ แต่ภายหลังต้องกลับ มาเล่นเพลงกับวงนายอินเหมือนเดิม เพราะอาอินร้องไห้คิดถึง บอกหลานว่า "มึงขึ้นโคนยังไงๆ ก็ต้องลงโคนนะอีผัน" ทำให้รู้สึกสงสารเพลงฝ่าย ห้วยโรงมาก แต่พอแม่บัวผันลาแม่อ่วม ฝ่ายแม่อ่วมก็ร้องไห้เสียดาย แม่บัวผันเช่นกัน เมื่อายุราว 22 ปี (พ.ศ.2485) แม่บัวผันอยู่กินกับคนข้างบ้านชื่อนายหอม จันทร์ศรี เป็นชาวบ้านช่องน้ำไหล ทุ่งถัดไปจากห้วยโรง มีอาชีพทำนามาทำบุญที่วัดห้วยโรงเสมอ เมื่อนายหอมชอบพอแม่บัวผันก็จัดการสู่ขอตกแต่ง มีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคนชื่อ ประจวบ เกิดเมื่อปีมะแม พ.ศ. 2486 
 
 
 ครั้นอยู่กินกันมาได้เกือบ 10 ปี นายหอมก็ไปมีเมียใหม่ ประกอบกับนายหอมสูบกัญชาและไม่ชอบให้แม่บัวผันไปเล่นเพลงเท่าใดนัก จึงทะเลาะขัดใจกันขึ้น ถึงวันหนึ่งพ่อรับงานไว้ ที่วัดหลวง เป็นเวลาเย็นแล้วแม่บัวผันจะไปเล่นเพลงด้วย ตัวนายหอมห้ามไม่ให้ไป ถ้าไปจะตีหัว ให้แตก แม่บัวผันรักเพลงพอได้ยินพ่อมาเรียกก็ลงบันได เท่านั้นนายหอมก็คว้าฉมวกพุ่งลงมา เคราะห์ดีที่ฉมวกพุ่งข้ามหัวปักลงดิน พ่อถามว่า ไปไหมลูก แม่บัวผันยืนยันว่าฉันไปได้ ตั้งแต่นั้นมาแม่บัวผันก็ไม่อยู่กับนายหอม ต้องหาเลี้ยงตัวและลูก รับภาระหนักขึ้น ทั้งเล่นเพลงเก็บเงิน และเอาของขึ้นใส่เกวียนไปขายไปแลก มีเครื่องกับข้าว เสื้อกางเกง ผ้านุ่งผ้าถุง แลกกับข้าว สะสมเงินได้บ้างก็เอามาซื้อที่นาได้ 5 ไร่ ชีวิตในช่วงนั้นต้องลำบากมากแต่ก็สามารถเลี้ยงลูกจนโต ระหว่างที่อยู่กับนายหอม แม่บัวผันรู้จักพ่อเพลงคนหนึ่ง คือพ่อไสว สุวรรณประทีป เป็นชาวตำบลพังม่วง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี พ่อไสวก็เป็นคนที่ชอบเพลงตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นได้หัดเพลงอีแซวจากหนุ่มรุ่นที่ชื่อ เฉลียว ช้างเผือก กับได้เที่ยวไปเล่นเพลงและต่อเพลง จากครูเพลงเก่งๆหลายคน เช่น ยายพวง ดอนประดู่ และนายหลาบ บ้านห้วยเจริญ เป็นต้น ( ไม่ได้หัดเพลงฉ่อย เพลงทรงเครื่อง เพราะไม่มีชุมเพลงอย่างแม่บัวผัน) ในที่สุดพ่อไสวและแม่บัวผันก็ได้รู้จักกันที่บ้านไร่ ในขณะนั้นต่างก็มีลูกแล้ว พ่อไสวอายุยังไม่ถึง 30 (เกิด พ.ศ. 2465) หลังจากรู้จักกันมานาน แม่บัวผันจึงอยู่กินกับพ่อไสว ตั้งวงเพลงฝึกลูกศิษย์ลูกหา ถ่ายทอดเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองมาสู่คน รุ่นหลังมากมาย นับเป็นเวลาหลายสิบปี แม่บัวผันอยู่กินกับพ่อไสวตั้งแต่ประมาณช่วงก่อน พ.ศ. 2500 ในช่วงแรกนั้นไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านดอนเบือ ตำบลดอนเจดีย์ เริ่มฝึกเพลงให้ ลูกศิษย์รุ่นแรก 
 
 
ต่อจากนั้นได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่บ้านศรีจัน อำเภอศรีประจันต์ เริ่มฝึกลูกศิษย์รุ่นที่ 2 ในรุ่นนี้มีขวัญจิตและขวัญใจ ศรีประจันต์ อยู่ด้วย แม่บัวผันเป็นผู้คัดและแลเห็นแววของ ขวัญจิตว่าเป็นคนพูดเก่ง ได้พยายามถ่ายทอดเพลงอีแซว หมั่นฝึกสอนอย่างไม่รู้ เหน็ดเหนื่อย นับเป็นครูคน สำคัญของขวัญจิตและน้องๆ จนภายหลังเมื่อขวัญจิต ไปร้องเพลงลูกทุ่งและเพลงแหล่แล้วย้อนกลับมาเล่นเพลงอีแซว แม่บัวผันก็เป็นกำลังสำคัญ ในการร้องเพลง ภารกิจการถ่ายทอดเพลงพื้นบ้านของแม่บัวผันยังมีอยู่เรื่อยมา แม่บัวผันและพ่อไสวได้หัดเพลงให้ลูกศิษย์รุ่นหลังสุดเมื่อ พ.ศ. 2530 และมีหลายครั้งที่แม่บัวผันเจ็บป่วย หรือเพิ่งจะทุเลาจากความเจ็บป่วย แต่เวลาขึ้นเวทีจะดูผิดไปเป็นคนละคน คงเล่นด้วยความรักจนลืม ความเจ็บลงไป แม่บัวผันถือว่าเพลงคือส่วนหนึ่งของชีวิต และชีวิตก็ทุ่มเท ให้เพลงโดยตลอด ด้วยเหตุนี้แม่บัวผันจึงควรได้ชื่อว่าเป็นศิลปินผู้อุทิศตน ให้แก่ศิลปะเพลงพื้นบ้านอย่างแท้จริง แม่บัวผัน จันทร์ศรี มีความสามารถในการร้องเพลงพื้นบ้านหลายชนิด อบรมสั่งสอนเพลงพื้นบ้านให้แก่ลูกศิษย์มาตลอดเวลา 30 ปี มีผลงานการบันทึกเสียงมากมาย ร้องเพลงออกรายการวิทยุท้องถิ่นที่ลพบุรีคู่กับพ่อไสวนับเป็นเทปหลายร้อยม้วน การอัดวิดิทัศน์สาธิตเพลงพื้นบ้าน ภาคกลางให้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ฯลฯ 
 
 
แม่บัวผันได้รับโล่เชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติและศูนย์สังคีตศิลป์ ในพิธีเชิดชูเกียรติศิลปินเพลงพื้นบ้าน ครั้งที่ 2 (สาขาเพลงพื้นบ้านภาคกลาง) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม 2526 และได้รับโล่เชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมประสานงานเยาวชน แห่งชาติในปีถัดมา จากประวัติชีวิตและผลงานดังกล่าว คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ นางบัวผัน จันทร์ศรี เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2533 และได้เข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2534
 
ที่มา: https://www.m-culture.go.th/suphanburi/ewt_news.php?nid=320&filename=index