คุณครูแจ้ง คล้ายสีทอง

คุณครูแจ้ง คลายสีทอง | ช่างขับคำหอม

นาย แจ้ง คล้ายสีทอง เป็นชาวตำบลบางตาเถร อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี โดยเกิดในตระกูลศิลปิน คุณตา เป็นนักสวดคฤหัสถ์ บิดาเป็นผู้แสดงโขน พากย์โขน และเป็นตลกโขนที่มีชื่อเสียงในคณะโขนวัดดอนกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี มารดาเป็นนักร้องเพลงไทยเดิม และแม่เพลงพื้นบ้านผู้มีน้ำเสียงไพเราะยิ่ง รวมทั้งญาติพี่น้องอื่น ๆ ก็เป็นศิลปินพื้นบ้านที่จังหวัดสุพรรณบุรีด้วยกันทั้งหมด นาย แจ้ง คล้ายสีทองติดตาม บิดา มารดา ไปตามงานแสดงต่าง ๆ และเริ่มการแสดงตั้งแต่ยังเยาว์วัย

การขับและขยับกรับเสภา นายแจ้งสามารถขับร้องได้อย่างไพเราะพร้อมการขยับกรับไปด้วยกัน โดยนายแจ้งได้ครูโชติ ดุริยประณีต เป็นผู้ฝึกหัดให้ เริ่มตั้งแต่วิธี จับไม้กรับเสภา ซึ่งมีอยู่ 4 อัน หรือ 2 คู่ โดยถือไว้ในมือด้านละ 1 คู่ เริ่มขยับเสียงสั้นไปหาเสียงยาวคือเสียงกรด เสียงสั้นคือเสียงก๊อก แก๊บ เสียงยาวคือเสียงกรอ ขยับจนคล่องดีแล้ว จึงตีเสียงกร้อ แกร้ (เสียงกรอ) ต่อจากนั้นตีไม้สกัดสั้น ได้แก่เสียงแกร้ แก๊บ และไม้สกัดยาวคือเสียงกร้อ แกร้ กร้อ แกร้ แก๊บ ใช้สำหรับตอนหมดช่วงของการขับเสภา และในระหว่างขับ ส่วนไม้กรอใช้สำหรับ ขับครวญเสียงโหยไห้และใกล้หมดช่วงของขับเสภา นายแจ้งฝึกจนสามารถ ขับและขยับกรับเสภาได้ โดยขับในละครเรื่อง ไกรทองแต่ยังไม่ทันได้ต่อไม้เสภาอื่น ๆ ต่อไป นายโชติ ดุริยะประณีต ก็ถึงแก่กรรม

 

และต่อมานายแจ้งได้เรียนขยับกรับกับอาจารย์มนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.​2528 สาขาศิลปะการแสดงดนตรีไทย ซึ่งรับราชการอยู่ในกรมศิลปากร อ.มนตรีท่านได้กรุณาบอกไม้เสภาที่ยังไม่ได้ ได้แก่ ไม้รบ ใช้สำหรับบทดุดันหรือการต่อสู้ และไม้สอง ใช้สำหรับชมธรรมชาติหรือดำเนินทำนองเพลง 2 ชั้น และบทดำเนินเรื่อง

 

ในงานพิธีไหว้ครูประจำปีของแผนกดุริยางค์ไทย กองการสังคีต กรมศิลปากร ครั้งหนึ่ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร (พระองค์ชายกลาง) องค์อุปถัมภ์ศิลปิน ได้เสด็จมาในงานพร้อมด้วยนายเจือ ขันธมาลา ผู้มีความสามารถในการขับร้องและขยับกรับเสภา นายเจือเป็นหลานและศิษย์ของ ท่านครูหมื่นคำหวาน ท่านพระองค์ชายกลาง ได้มีพระเมตตาฝากฝังนายแจ้งให้เรียนเสภากับนายเจือ นายแจ้งจึงได้ วิธีการขับเสภาไหว้ครู รวมทั้งเกร็ดย่อยอื่น ๆ เพิ่มขึ้น และมีความชำนาญเชี่ยวชาญมากขึ้น จนได้รับสมญาว่า "ช่างขับคำหอม"

 

นายแจ้งได้เริ่มขับเสภาอย่างจริงจังเมื่ออายุประมาณ 30 ปี นอกจากเรียนกับครูโชติ ครูสงัด ครูมนตรี แล้วก็ยังฟังเทปครูเหนี่ยว กับครูหลวงเสียงเสนาะกรรณพัน มุกตวาภัย ขับเสภา แล้วคอยจำเทคนิคไว้ ไปที่บ้านครูเจือ ขันธมาลา ฟังครูเจือบอกไม้กรับ ฟังครูหมื่นขับคำหวานขับเสภา ครูหมื่นขับคำหวานท่านขับเสภาตลก ครูหลวงเสียงเสนาะกรรณจะขับเสภาเพราะหวานหู บทเข้าพระเข้านางต้องครูหลวงเสียงฯ ส่วนครูเหนี่ยวขับแบบนักเลง กระโชกโฮกฮาก เป็นบทหยิ่งผยอง

 

นอกจากนี้ยังได้รับความกรุณาจาก นางท้วม ประสิทธิกุล ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2529 สาขาศิลปะการแสดงดนตรีไทย และนาย ประเวช กุมุท ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2532 สาขาศิลปะการแสดงดนตรีไทย แนะวิธีปลีกย่อยให้นายแจ้ง จนได้มีโอกาสแสดงความสามารถและได้รับคำชมไปทั่ว จนภายหลังได้รับการยกย่องว่า "เสียงดี ตีกรับอร่อย"

 

เพลงหลัก ๆ ที่มีชื่อเสียงนั้นก็คือ การขับเสภาในละครเรื่อง “ขุนช้าง ขุนแผน” ซึ่งนายแจ้งจะร้องเอง ขับเสภาเองหมด การขับเสภาของนายแจ้งนั้น นายแจ้งจะดูบท และเอาแบบของครูแต่ละท่านมาใช้ให้ถูกจุด ครูแจ้งเล่าว่า”อย่างร้องถึงคำว่า "แหวกม่าน" ต้องทำเสียงจินตนาการว่าค่อย ๆ แหวกม่าน ไม่ใช่พรวดพราดแหวกม่าน นางตกใจตายกันพอดี” การขับเสภาเป็นเรื่องของการใช้เสียงแสดงอารมณ์บอกเล่าเรื่องราวว่าเกิดอะไรขึ้น นายแจ้งเคยขับเสภาตอน "กำเนิดพลายงาม" ขับเสร็จหันไปดูคนฟัง ปรากฏว่านั่งร้องไห้กันหลายคน นั่นคือการขับเสภาไปกระทบใจเขา

 

นายแจ้งเคยร้องเอาเนื้อความเป็นใหญ่ สัมผัสลดน้อยลงไป แต่ ม.ล.ปิ่น มาลากุล  ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2530 สาขาวรรณศิลป์กวีนิพนธ์ ท่านบอกว่า ไม่ได้ ไม่งั้นคนไทยจะมีกลอนทำไม ต้องอ่านให้สัมผัสถึงจะเป็นกลอน ถ้าเอาเนื้อความเป็นใหญ่เขียนร้อยแก้วเสียก็หมดเรื่องเลยต้องเอาสัมผัสเป็นตัวตั้ง ความอยู่ทีหลัง ช่วงที่ มล.ปิ่น มาลากุลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในวันคล้ายวันเกิดของท่านทุก ๆ ปี ครูแจ้งมีหน้าที่ต้องไปอ่านบทกลอนของ มล.ปิ่นให้ท่านฟัง ที่ หออัครศิลปิน ท่านมักจะชอบเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ครูแจ้งฟัง

 

บทที่ใช้ในการขับเสภานั้น นายแจ้งเอามาจากวรรณคดีทั้งหมด ต้องอ่านวรรณคดีทุกเรื่อง ไม่มีเรื่องไหนไม่เคยอ่าน หรือพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็นำมาขับเสภาได้ บางครั้งก็มีแต่งบทเสภาขึ้นใหม่ การขับเสภาสามารถขับได้ทุกงาน ใช้ขับได้ทั้งงานมงคล และอวหมงคล ตั้งแต่งานวันเกิด งานโกนจุก งานขึ้นบ้านใหม่ งานมงคลสมรส งานฉลองต่าง ๆ จนถึงงานตอนตายคืองานศพนั่นแหละ ซึ่งก็ ต้องแต่งหรือนำบทขับเสภาในวรรณคดี ที่มีอยู่แล้ว นำเอามาใช้ขับให้เหมาะกับงานนั้น ๆ เช่น ถ้างานศพ ก็จะบอกถึงคุณความดี ประวัติต่าง ๆ ของผู้ตาย

 

การขับเสภาของคนรุ่นปัจจุบันนี้ ครูแจ้งเล่าว่า

"แต่ก่อนฉันต้องเรียนขับเสภาอย่างละเอียด อักษรอย่างนี้ คำอย่างนี้ ต้องใช้อารมณ์อย่างไร ขับเสภาแบบไหน ขับได้กี่อย่าง แต่เดี๋ยวนี้คนขับไม่รู้ก็ขับส่งเดช วรรณคดีมีอารมณ์ของเขาอยู่ ต้องตีให้ออก ถามถึงคนรุ่นนี้กับการขับเสภาหรือ..ฉันคิดว่าการขับเสภาไม่หายไปหรอก เขาเรียนกันเยอะไป แต่เรียนไม่ละเอียด เป็นแค่พอผ่าน จะเรียนจริงจังหายากเต็มทน อีกอย่างหาคนส่งเสริมการขับเสภาไม่ค่อยมี ศิลปินไทยจะแย่เอาคราวนี้ ที่ว่ากันว่าขับทำนองเสนาะ ตอนนี้ฉันเห็นว่าได้แต่ขับทำนอง ส่วนความเสนาะหาได้ยากเหลือเกิน"

 

 

ที่มา:  https://th.wikipedia.org/wiki/แจ้ง_คล้ายสีทอง