คุณครูมนตรี ตราโมท

คุณครูมนตรี ตราโมท | คีตกวี 5 แผ่นดิน

มนตรี ตราโมท เดิมชื่อ "บุญธรรม" เกิดเมื่อ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2443 ที่บ้านท่าพี่เลี้ยง อ.เมืองสุพรรณบุรี เป็นบุตรนายยิ้ม นางทองอยู่ และเป็นหลานชายในพระครูสัทธานุสารีมุนีวินยานุโยคสังฆวาหะ หรือหลวงพ่อลี่ ปุริสพันธ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิ และเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนการดนตรีไทยของจังหวัดสุพรรณบุรีในสมัยนั้น


ในสมัยที่มีการประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการตั้งชื่อบุคคล มนตรีจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "มนตรี" เมื่อ 15 เมษายน พ.ศ. 2485 นามสกุล "ตราโมท" เป็นนามสกุลที่ หม่อมเจ้าคำรบ ปราโมช ประทานให้ มีสำเนียงล้อนามสกุล "ปราโมช" ขององค์


มนตรีศึกษาที่โรงเรียนปรีชาพิทยากร สอบได้ชั้นมัธยมปีที่ 3 เหตุที่มนตรีมีโอกาสได้เป็นนักดนตรีไทยก็เพราะว่าบ้านของมนตรีอยู่ใกล้วัดสุวรรณภูมิ ซึ่งมีวงปี่พาทย์ฝึกซ้อมกันอยู่เป็นประจำ มนตรีจึงได้ยินเสียงเพลงปี่พาทย์อยู่เสมอจนจำทำนองเพลงได้เป็นตอน ๆ


เมื่อเรียนจบ ม.3 แล้ว จึงคิดที่จะเรียนต่อที่กรุงเทพฯ แต่มนตรีมีโรคภัยไข้เจ็บรบกวนตลอดเวลา เรียนไม่ทันเพื่อนฝูง เลยหมดกำลังใจที่จะเรียนต่อ ในเวลานั้น สมบุญ ซึ่งเป็นนักฆ้องจึงชวนให้หัดปี่พาทย์ ซึ่งมนตรีก็มีใจรักอยู่แล้วจึงฝึกฝนด้วยความมานะพยายาม จนมีความคล่องแคล่วพอควร มนตรีได้เป็น นักดนตรีปี่พาทย์ อยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ประมาณ 2 ปี ต่อมาราวปี พ.ศ. 2456 มนตรีได้ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ที่บ้านสมบุญ สมสุวรรณ ซึ่งมีทั้งปี่พาทย์และ แตรวง มนตรีจึงได้มีโอกาสฝึกหัดทั้งสองอย่าง


เมื่ออายุได้ 17 ปี ได้สมัครเข้ารับราชการในกรมพิณพาทย์ทอง กรมมหรสพ กรมมหาดเล็ก ที่กรมพิณพาทย์หลวง มนตรีได้เรียนฆ้องวงใหญ่ จากหลวงบำรุงจิตเจริญ (ธูป สาตนะวิลัย) และเรียนกลองแขกจากพระพิณบรรเลงราช (แย้ม ประสานศัพท์) มนตรีมีฝีมือทางการบรรเลงฆ้องวง แต่เพื่อให้มีฝีมือในเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เจ้ากรมพิณพาทย์หลวง จึงให้มนตรีเปลี่ยนเป็นครูตีระนาดทุ้ม มนตรีได้รับเลือกให้เข้าประจำอยู่ในวงข้าหลวงเดิม ซึ่งเป็นวงที่จะต้องตามเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานทุกแห่ง ทำให้มนตรีเป็นผู้กว้างขวางในวงสังคมสมัยนั้น


มนตรีรับราชการอยู่ที่แผนกปี่พาทย์หลวงได้ไม่นาน ก็เกิดการโอนวงปี่พาทย์และโขนละครไปสังกัดอยู่กับกรมศิลปากร เมื่อพ.ศ. 2548 มนตรีจึงย้ายไปประจำโรงเรียนศิลปากร แผนกนาฏดุริยางค์ (ปัจจุบัน คือ วิทยาลัยนาฏศิลป์) หน้าที่การงานของมนตรี เจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับจนเลื่อนเป็นชั้นเอก ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้มนตรีดำรงตำแหน่งศิลปินพิเศษ เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 นับเป็นศิลปินคนแรกของกรมศิลปากรที่ได้รับชั้นพิเศษ


เมื่อมนตรีเกษียณอายุ กรมศิลปากรพิจารณาเห็นว่ามนตรีมีความรู้ความสามารถในด้านวิชาการศิลปดุริยางค์ไทย จึงจ้างไว้ช่วยราชการต่อมาอีก 5 ปี จากนั้นก็จ้างในฐานะลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยกับคีตศิลป์ไทย ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในวิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร


นอกจากการทำงานประจำในหน้าที่ที่กรมศิลปากรแล้ว มนตรียังเป็นอาจารย์พิเศษสอนตามมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง มนตรีได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตในประเภทวิจิตรศิลป์ สำนักศิลปกรรม ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2524


นอกจากครูมนตรีจะมีฝีมือในการบรรเลงดนตรีแล้ว ครูมนตรียังมีความสามารถในการแต่งเพลงอีกด้วย ครูมนตรีแต่งเพลงมาแล้วมากมาย มากกว่า 200 เพลง ตั้งแต่ พ.ศ.2463 เป็นต้นมา มีทั้งเพลง 3 ชั้น เพลงเถา เพลงประวัติศาสตร์ เพลงระบำและเพลงเบ็ดเตล็ด เคยมีผู้รวบรวมไว้ได้ถึง 200 กว่าเพลง นอกจากครูมนตรีจะแต่งเพลงดังกล่าวมาแล้ว ครูมนตรียังเคยแต่งเพลงประกวดทั้งบทร้องและทำนองเพลงและได้รับรางวัลที่ 1 เพลงนั้นชื่อว่า "เพลงวันชาติ 24 มิถุนา" เมื่อ พ.ศ. 2483


เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ครูมนตรี ตราโมทเป็นครูผู้ประกอบพิธีไหว้ครู และครอบประสิทธิ์ประสาทวิชาวิชาดนตรีไทยของกรมศิลปากร นอกจากครูมนตรีจะกระทำพิธีให้แก่กองการสังคีตและวิทยาลัยนาฏศิลป์ ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดแล้ว ครูมนตรียังทำพิธีไหว้ครูดนตรีไทยให้แก่หน่วยราชการ สถานศึกษาและเอกชนทั่วไป


ครูมนตรีนอกจากจะมีความรู้และความสามารถในการแต่งเพลงและการบรรเลงดนตรีไทยแล้ว ครูมนตรียังมีความรู้ทางด้านโน้ตสากลและดนตรีสากลอีกด้วย ซึ่งยิ่งช่วยเพิ่มความรู้ทางดนตรีไทยและการแต่งเพลงมากขึ้น


ครูมนตรีรักการอ่านหนังสือทำให้ครูมนตรีมีความรู้กว้างขวาง ครูมนตรีชอบโคลงมาก ครูมนตรีจึงแต่งโคลงไว้มากมาย นอกจากนี้ หนังสือประเภทสารคดีที่เกี่ยวกับวิชาการทางด้านศิลปะ ครูมนตรีก็ได้แต่งไว้หลายเรื่อง เช่น "ดุริยางค์ศาสตร์ไทยภาควิชาการ" "การละเล่นของไทย" "ศัพท์สังคีต" นอกจากนี้ก็มีเรื่องสั้น ๆ ที่ครูมนตรีเขียนไว้ในหนังสือต่าง ๆ เช่น เรื่องปี่พาทย์ไทย ปี่พาทย์มอญ ปี่พาทย์ชวา เครื่องสายไทย ดุริยเทพดนตรีกับชีวิต วงดนตรีประกอบการแสดงโขน ฯลฯ


ครูมนตรียังได้เขียนอธิบายความหมายของคำต่าง ๆ ในหนังสือสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน และเขียนเรื่องดนตรีไทยในหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนไทย เล่ม 1 ในพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


ในโอกาสฉลอง 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์  กรมศิลปากรจัดพิมพ์ หนังสือหลายเล่ม ครูมนตรีก็ได้มีส่วนเขียนเรื่องดนตรีไทย ภาพกลางลงพิมพ์ในหนังสือชุดศิลปกรรมไทย หมวด "นาฏดุริยางคศิลป์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์" ด้วย


ผลงานทางด้านข้อเขียนของครูมนตรี ที่ครูมนตรีภาคภูมิใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อทางราชการสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่จังหวัดสุพรรณบุรีแล้วเสร็จ ได้จัดให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเรียบเรียงข้อความที่จะจารึกเทิดทูนพระวีรเกียรติประวัติของพระองค์ โดยใช้ถ้อยคำแต่น้อยกินความมาก เพื่อให้พอเหมาะกับขนาดแผ่นจารึกที่ฐานพระราชานุสาวรีย์ ผลการคัดเลือกปรากฏว่า ข้อความของครูมนตรีได้รับการพิจารณาให้จารึกในแผ่นศิลาดังกล่าว


ครูมนตรีเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ครูมนตรีเคยได้รับเกียรติให้เป็นกรรมการมากมายหลายคณะ เช่น 

  • กรรมการตัดสินเพลงชาติ
  • กรรมการศิลปะของสภาวัฒนธรรม
  • ประธานกรรมการการรับรองมาตรฐานวิทยาลัยเอกชน สาขาดุริยางคศิลปะของทบวงมหาวิทยาลัย
  • รองประธานกรรมการตัดสิน การอ่านทำนองเสนาะ
  • กรรมการตัดสินคำประพันธ์เรื่องเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  • ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดทำแบบเรียนวิชาดนตรีศึกษา ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ

ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/มนตรี_ตราโมท