วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี

วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี 

ตั้งอยู่ภายในศูนย์ราชการกรมศิลปากร จังหวัดสุพรรณบุรี เลขที่ 119 หมู่ที่ 1 ถนนสุพรรณบุรี-ชัยนาท ตำบลสนามชัย อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี มีพันธกิจในการจัดตั้งคือ

  • จัดการศึกษาด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ช่างศิลป์ และทัศนศิลป์ระดับพื้นฐานวิชาชีพ ถึงวิชาชีพขั้นสูงที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับระดับชาติ และนานาชาติ
  • สร้างงานวิจัย งานสร้างสรรค์ งานนวัตกรรม ที่เป็นองค์ความรู้ด้านศิลปะวัฒนธรรมอย่างมีคุณค่าแก่สังคม
  • ให้บริการวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรมแก่ท้องถิ่น ชุมชน และสังคม
  • อนุรักษ์ พัฒนา สืบสาน และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมสู่ประชาคมอาเซียนและนานาชาติ
  • จัดการแสดงด้านนาฏศิลป์ ดุริงยางคศิลป์ คีตศิลป์ ช่างศิลป์ และทัศนศิลป์เพื่อเทิดทูนสถาบันหลักของชาติและส่งเสริมความเป็นไทยในระดับชาติและนานาชาติ

โดยวิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรีได้จัดระดับการศึกษาเป็น 2 ระดับ คือ

1) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แบ่งออกเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่

  • หลักสูตรนาฏดุริยางคศิลป์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ปรับปรุงพุทธศักราช  2562) รับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6ใช้เวลาเรียน 3 ปี เรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้พื้นฐาน 8 กลุ่มสาระ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาชีพ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
  • หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพนาฏดุริยางคศิลป์ พุทธศักราช 2562 วิทยาลัยนาฏศิลป (หลักสูตรปรับปรุง)

2) ระดับอุดมศึกษา 

รับผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรพื้นฐานวิชาชีพวิทยาลัยนาฏศิลป์ พ.ศ.2553 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามหลักสูตรส่วนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และ/หรือผู้มีความถนัดทางด้านศิลปะ (นาฏศิลป์ ดนตรี) สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6) หรือเทียบเท่า ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต (4ปี) สาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา และสาขาวิชาดนตรีศึกษา หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2562

ซึ่งได้แบ่งการเรียนการสอนแยกเป็น 5 สาขาวิชา ดังนี้

  • สาขานาฏศิลปะโขน เป็นการเรียนด้านนาฏศิลปไทย เฉพาะนักเรียนชาย แบ่งเป็น โขนพระ โขนยักษ์ และโขนลิง
  • สาขาวิชานาฏศิลป์ละคร เป็นการเรียนด้านนาฏศิลปะไทย เฉพาะนักเรียนหญิง ซึ่งแบ่งเป็นละครพระ และละครนาง
  • สาขาวิชาปี่พาทย์ เป็นการเรียนด้านดนตรีไทย เครื่องดนตรีที่เรียน ได้แก่ ระนาด ปี่ ฆ้องวง และกลอง ฯลฯ
  • สาขาวิชาเครื่องสายไทย เป็นการเรียนด้านดนตรีไทย เครื่องดนตรีที่เรียน ได้แก่ จะเข้ ซอ และขลุ่ย ฯลฯ
  • สาขาวิชาคีตศิลปะไทย เป็นการเรียนด้านการขับร้องเพลงไทย

สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่ได้เข้ามาเรียนในวิทยาลัยนาฎศิลปสุพรรณบุรี จะได้รับโอกาส และประสบการณ์ในการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเป็นการส่งเสริมทักษะในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • ฝึกฝนให้เป็นผู้มีบุคลิกภาพดี ทั้งกายและวาจา มีคุณธรรมจริยธรรม และมีสุนทรียภาพ
  • ส่งเสริมทักษะ ประสบการณ์ การแสดง เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีนาฏศิลป์ ทั้งในและต่างประเทศ
  • ส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียนโดยการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรี นาฏศิลป์
  • ส่งเสริมการเข้าร่วมการประกวดตามความถนัดและตามศักยภาพ

 

โดยในปี พ.ศ.2561 ได้มีการสรุปจำนวน และแผนการรับนักเรียนนักศึกษา ปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ดังนี้ ระดับการศึกษาชั้น ม.1 - ม.3 จำนวน 405 คน ระดับการศึกษาชั้น ม.4 - ม.6/ปวช. จำนวน 296 และหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต จำนวน 162 คน (ที่มา: แผนปฏิบัติการสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562)