พุ่มพวง ดวงจันทร์

ราชินีเพลงลูกทุ่ง

พุ่มพวง ดวงจันทร์ (4 สิงหาคม 2504 – 13 มิถุนายน 2535) เป็นชื่อการแสดงของ รำพึง จิตรหาญ ชื่อเล่น ผึ้ง เธอเกิดที่จังหวัดชัยนาท แต่มาเติบโตที่ ต.บ่อสุพรรณ อ.สองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรีของสำราญ และจรัญ (เล็ก) จิตรหาญ ครอบครัวมีอาชีพรับจ้างทำไร่อ้อย เกิดในครอบครัวยากจน เป็นลูกคนที่ 5 ของบ้านในจำนวน 12 คน

สถานภาพครอบครัวของผึ้งจัดอยู่ในขั้นที่ยากจนมาก เธอเรียนที่โรงเรียนบ้านดอนตำลึง แต่ด้วยความที่เธอมีน้องอีก 6 คน ประกอบกับค่านิยมของแม่นั้นเห็นว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียนมาก เธอจึงไม่จบแม้แต่ชั้น ป.2 ในวัยเด็กพอน้องหลับหมด เธอไปหาของขาย เก็บผัก หาดอกไม้ป่า หาบไปขายตามโรงงาน 

เธอเริ่มหัดร้องเพลงและเข้าประกวดตามงานต่าง ๆ ตั้งแต่อายุ 8 ปี โดยใช้ชื่อว่า น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย

ในปี พ.ศ. 2519 ครูเพลงลูกทุ่ง มนต์ เมืองเหนือ รับเธอเป็นลูกศิษย์ และเปลี่ยนชื่อจากน้ำผึ้ง เมืองสุพรรณเป็น "พุ่มพวง ดวงจันทร์" จากการตั้งชื่อโดย มนต์ เมืองเหนือ และได้บันทึกเสียงจากการแต่งของก้อง กาจกำแหง ร้องแก้ขวัญชัย เพลงนั้นคือ "รักไม่อันตราย" และตั้งวงดนตรีเป็นของตนเอง โดยการสนับสนุนของคารม คมคาย นักจัดรายการวิทยุ มนต์ เมืองเหนือแต่ไม่ประสบความสำเร็จก็มาสังกัดบริษัทเสกสรรเทป-แผ่นเสียงผลงานของพุ่มพวง ดวงจันทร์เริ่มประสบความสำเร็จในเวลาต่อมาหลังจากได้รับการสนับสนุนจากประจวบ จำปาทองและปรีชา อัศวฤกษ์นันท์ ให้ตั้งวงร่วมกับเสรี รุ่งสว่าง ในชื่อวง เสรี-พุ่มพวง จากจุดนี้ก็ได้รับความสำเร็จขึ้น

พุ่มพวง ดวงจันทร์ เข้ามาอยู่สังกัดอโซน่า โปรโมชั่น ในปี พ.ศ. 2525 ผลงานในระหว่างปี 2525-2535 ของเธอมีมากมายอย่างเช่น จะให้รอ พ.ศ.ไหน (มิ.ย. 2525) นัดพบหน้าอำเภอ (2526) สาวนาสั่งแฟน (2527) ทิ้งนาลืมทุ่ง (2527) คนดังลืมหลังควาย (2528) อื้อฮื้อ ! หล่อจัง (2528) ห่างหน่อย – ถอยนิด (2529) ชั่วเจ็ดที-ดีเจ็ดหน (2529)  เรื่องของสัตว์โลก (2529) และ คิดถึงน้องบ้างนะ (2530) ซึ่งสามชุดหลังเป็นชุดที่ออกหลังที่พุ่มพวงออกจากค่ายอโซน่า โปรโมชั่นแล้ว 

ต่อมาย้ายมาอยู่กับพีดี โปรโมชั่น และ ซีบีเอส เร็คคอร์ด (ประเทศไทย) และอาจารย์ไพจิตร ศุภวารีได้เปลี่ยนภาพลักษณ์พุ่มพวงให้เข้ากระแสนิยมของเพลงสตริงในยุคนั้น แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับของนักฟังเพลงลูกทุ่ง จึงได้ย้ายไปทำงานร่วมกับท็อปไลน์มิวสิค มีผลงานเพลงที่ได้รับความนิยมมากมาย ผลงานที่ได้รับความนิยมอย่างเช่นชุด ตั๊กแตนผูกโบว์กล่อม และ ทีเด็ดพุ่มพวง ผลงานกับค่ายท็อปไลน์มิวสิคอื่น ๆ เช่น พุ่มพวง 31 (หนูไม่รู้), พุ่มพวง 31 ภาค 2 (หนูไม่เอา), พุ่มพวง 32 (พี่ไปดู หนูไปด้วย) และนำผลงานเก่ามามิกซ์รวมกัน เช่น พุ่มพวงหลาย พ.ศ. (ตลับทอง และตลับเพชร), ขอให้รวยน้ำผึ้งเดือนห้าซูเปอร์ฮิต 1 และ 2 จากนั้นเธอเริ่มรับจ้างทำงานให้กับอาร์เอส โปรโมชั่นเมโทรเทปและแผ่นเสียง และแฟนตาซี ไฮคลาส สำหรับผลงานกับค่ายอาร์เอส เช่น ลูกทุ่งท็อปฮิตมาตรฐาน เป็นผลงานอัลบั้มที่เธอนำเพลงดังของศิลปินลูกทุ่งดังในอดีตมาร้องใหม่ นอกจากนี้ยังมีค่ายเมโทรฯ ที่ได้ลิขสิทธิ์งานเพลงชุด "ส่วนเกิน" อีก 1 ชุด

พุ่มพวงเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2526 และแสดงหนังเรื่องแรก สงครามเพลง สร้างโดยฉลอง ภักดีวิจิตร และอีกหลายเรื่อง ในช่วงที่แสดงภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักนักเพลง ได้พบกับ (ไกรสร แสงอนันต์) ผลงานการแสดงของเธอในฐานะนางเอก อย่างเช่น สงครามเพลงรอยไม้เรียวผ่าโลกบันเทิงนักร้อง นักเลงนางสาวกะทิสดมนต์รักนักเพลงลูกสาวคนใหม่อีแต๋น ไอเลิฟยูหลงเสียงนางจงอางผงาดขอโทษทีที่รักคุณนาย ป.4อาจารย์เด๋อเจอพุ่มพวงสาวนาสั่งแฟนเสน่ห์นักร้องนางสาวยี่ส่าย (ภาพยนตร์โทรทัศน์) เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2527 พุ่มพวงจดทะเบียนสมรสกับนายไกรสร ลีละเมฆินทร์ อดีตพระเอกภาพยนตร์ ที่ใช้ชื่อในวงการว่า ไกรสร แสงอนันต์ ต่อมาพุ่มพวงฝึกหัดเขียนหนังสือจนสามารถเขียนชื่อตัวเองได้ เพื่อประโยชน์ทางนิติกรรมต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2530 มีบุตรชายชื่อ สันติภาพ (ต่อมาเปลี่ยนชือเป็น สรภพ หรือ "เพชร" หรือ "บ่อยบ๊อย" ลีละเมฆินทร์ ซึ่งก็เป็นนักร้องลูกทุ่ง นอกจากนี้ยังมี จันทร์จวง ดวงจันทร์ ดวงใจ ดวงจันทร์ และสลักจิต ดวงจันทร์ น้องสาวพุ่มพวงก็เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งเช่นกัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2532 พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอีกครั้ง ในสาขารางวัลขับร้องเพลงดีเด่น กับเพลง "สยามเมืองยิ้ม" ประพันธ์โดยครูลพ บุรีรัตน์ ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่ง ภาค 2

 

และในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.​2535 ประเทศไทยก็ได้เสียบุคคลากรด้านดนตรีลูกทุ่งอย่างพุ่มพวง ดวงจันทร์ ไปด้วยโรค "โรคเอสแอลอี" หรือภูมิแพ้ตนเอง ภายหลังจากการเสียชีวิตของเธอ มีมิตรรักแฟนเพลงจำนวนมากออกมาไว้อาลัยและแสดงความเสียใจต่อการจากไปตลอดกาลของราชินีลูกทุ่ง และในวันที่ 15 สิงหาคม 2552 เธอได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ‘ปริยศิลปิน’ ศิลปินอันเป็นที่รักยิ่งของประชาชน

 

ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พุ่มพวง_ดวงจันทร์