ตลาดสามชุก

ตลาดสามชุก

ตลาดสามชุก เป็นห้องแถวไม้ริมแม่น้ำท่าจีน ตั้งอยู่ในอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ในอดีตตลาดสามชุกเป็นย่านการค้าสำคัญและเป็นแหล่งชุมชนของชาวไทยเชื้อสายจีน จึงทำให้ที่นี่มีรากฐานทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย รวมถึงได้รับการประกาศให้เป็นตลาด 100 ปี อีกทั้งในปี พ.ศ. 2552 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศให้ตลาดสามชุกได้รับรางวัลอนุรักษ์ระดับดี ในโครงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยในปัจจุบันได้รับการส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งจะมีพื้นที่สำหรับนักเรียนและเยาวชนทั่วไปได้เผยแพร่และทำการแสดงดนตรีให้กับนักท่องเที่ยวชม ทั้งการบรรเลงดนตรีไทยและขับร้องเพลงไทยเดิม อีกทั้งในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ทางสมาคมศิลปินดนตรีสุพรรณบุรีรวมใจจะมีการใช้พื้นที่ตลาดสามชุกในการจัดกิจกรรมร้องเพลงต่าง ๆ ในแต่ละช่วงเวลาที่เหมาะสม

การแสดงดนตรีไทยในตลาดสามชุกนั้น มีที่มาจากความรักและความต้องการอนุรักษ์ดนตรีไทยของ “วิชัย ภู่ประเสริฐ” หรือ “ครูวิชัย” เป็นผู้ก่อตั้งชมรมดนตรีไทย โรงเรียนวัดสามชุก จ.สุพรรณบุรี

สมัยก่อนตอนเป็นเด็กจะไม่ชอบเล่นโลดโผน แต่กลับสนใจและชอบดนตรีไทย หาสิ่งของใกล้ตัวมาตีเป็นจังหวะดนตรีไทย และถึงกับเอาเงินเก็บค่าขนมแอบไปซื้อจะเข้ไม้ที่มาขายในงานฝังลูกนิมิตที่วัดมาตีเล่น แต่เพราะขาดแรงหนุน ไม่นานความชอบด้านนี้ก็เว้นวรรคไป จนเข้าเรียนวิทยาลัยครู ความสนใจดนตรีไทยจึงเริ่มกลับมาอีก

“ย่านโรงเรียนวัดสามชุกเป็นชุมชนที่มีพื้นฐานทางด้านดนตรีไทยอยู่แล้ว แต่ระยะหลังขาดผู้สืบทอด ลูกหลานจึงมอบเครื่องดนตรีไทยบางชิ้นให้กับโรงเรียนสามชุกเผื่อไว้ใช้ประโยชน์ เราเห็นเครื่องดนตรีไทยทิ้งอยู่เฉย ๆ ก็นึกเสียดาย ในใจคิดอยากจะตั้งชมรมดนตรีไทย แต่ติดตรงที่ไม่มีความรู้มากพอที่จะสอน ไม่มีครูผู้รู้สอน จึงหยุดความคิดนั้นไว้ชั่วคราว”

ต่อมา ครูประจวบ อิสสะอาด ซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนวัดสามชุก รับราชการครูอยู่ในกรุงเทพฯ และเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับดนตรีไทย ได้เกษียณอายุราชการแล้วมาเยี่ยมโรงเรียน ก็ได้คุยกันถึงเรื่องการตั้งชมรมดนตรีไทย ครูประจวบก็บอกว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะตัวท่านเองก็ต้องการที่จะเห็นรุ่นลูกหลานช่วยกันอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมไทย จึงอาสาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ทางด้านดนตรีไทยให้กับนักเรียนในช่วงปิดภาคเรียน และวันเสาร์-อาทิตย์

“เริ่มก่อตั้งโครงการชมรมดนตรีไทยขึ้นในปี 2534 โดยได้รับการสนับสนุนจากท่าน พระครูสุวรรณวิจิตร เจ้าอาวาสวัดสามชุก ท่าน สมควร เณรจาที ผู้อำนวยการโรงเรียน และคุณครูประจวบที่ให้ทั้งโน้ตและเพลงมาต่อให้เด็ก ๆ ผมมีหน้าที่อำนวยความสะดวกและช่วยดูแลเด็กนักเรียนให้ขณะที่ท่าน ไม่อยู่ ก็ได้เรียนรู้เทคนิคการสอนดนตรีไทย และนำมาประยุกต์กับตัวเอง จริง ๆ แล้วผมเล่นดนตรีไทย  ไม่เป็น ทำให้เด็กดูไม่ได้ แต่ผมสอนเด็กให้เล่นได้ เพื่อน ๆ บางคนพอรู้ว่าผมสอนดนตรีไทยก็งง บางคนไม่เชื่อ จนต้องมาเห็นกับตาตัวเอง” ครูวิชัยกล่าว

พร้อมทั้งเล่าต่อไปว่า ในระยะแรก ๆ เด็ก ๆมีโอกาสที่จะได้หาประสบการณ์จากการบรรเลงดนตรีไทยในงานศพ เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่การสร้างฝันและแรงจูงใจให้กับเด็กรุ่นหลัง ๆ เริ่มเมื่อปลายปี 2550 ที่ผ่านมา โดยได้รับการเชิญจากคุณ พงษ์วิน ชัยวิรัตน์ คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกร้อยปี ให้บรรเลงดนตรีไทยเพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรม และสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมตลาดสามชุกร้อยปี ที่พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

การพาเด็กไปทำกิจกรรมนี้ ได้จุดประกายการสร้างโอกาสให้กับโรงเรียนและเด็กนักเรียนเป็นอย่างมาก เพราะแรงศรัทธาของนักท่องเที่ยวที่มีต่อเยาวชนตัวน้อย ๆ ที่ร่วมสืบสานวัฒนธรรมด้านนี้ให้อยู่คู่กับประเทศไทย นักท่องเที่ยวให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี หลังจากนั้นจึงได้มีการพาเด็ก ๆ ไปบรรเลงดนตรีไทยที่ตลาดสามชุกร้อยปีเป็นประจำในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดพิเศษ ซึ่งก็ถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับเด็กให้ได้รับประสบการณ์ตรงนอกห้องเรียนด้วย

สำหรับเงินรายได้ที่ได้รับจากการทำกิจกรรมการแสดง ครูวิชัยบอกว่า มีการแบ่งรายได้ออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนที่หนึ่ง 60% เป็นทุนการศึกษาของเด็กนักเรียนที่มาร่วมในแต่ละครั้งแต่ละวัน ส่วนที่สอง 30% เป็น กองทุนชมรมดนตรีไทย จะใช้สร้างอาคารและซื้อเครื่องดนตรีไทยและอุปกรณ์ต่าง ๆ และอีก 10% ใช้ในการจัดการ อาหารและขนมของเด็ก

เด็กทุกคนในชมรมจะเล่นเครื่องดนตรีได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น ขิม ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ซอ อังกะลุง การออกทำกิจกรรมการแสดงจะมีการผลัดเปลี่ยนกันเพื่อให้ทุกคนสามารถเล่นเครื่องดนตรีได้ครบ ที่ตลาดสามชุกจะเล่นตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึงประมาณบ่ายสามโมงกว่า ๆ ก็เลิก เสาร์-อาทิตย์ผลัดกันเล่นวันละทีม เพลงที่เล่นก็เช่นเพลงไทยโหมโรงปฐมดุสิต เขมรไทรโยค ลาวดวงเดือน เพลงพระราชนิพนธ์ เช่น ใกล้รุ่ง ช่วงเทศกาลวันแม่ก็จะต่อเพลงวันแม่ เช่น ค่าน้ำนม อิ่มอุ่น ใครหนอ นอกจากนี้ถ้าเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ก็จะต่อเพลงพรปีใหม่ ลอยกระทงก็จะต่อเพลงลอยกระทง แม้แต่คริสต์มาสก็มีการต่อเพลงรับเทศกาล

“เงินที่เด็กได้รับ ผู้ปกครองเด็กจะเป็นผู้ดูแลในการใช้จ่ายหรือนำไปใช้เพื่อการศึกษา เช่นซื้ออุปกรณ์การเรียน เป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนต่อ เด็กบางคนผู้ปกครองมีฐานะดีก็จะนำเงินที่ได้ไปเก็บฝากธนาคาร มีเงินออมกันคนละหลายหมื่นบาท ผู้ปกครองก็สนับสนุนและดีใจที่ลูกเขาสามารถเล่นดนตรีไทยได้ เด็กที่อยู่ชมรมดนตรีไทยส่วนใหญ่เรียนค่อนข้างดี สอบได้ลำดับที่ต้น ๆ เกือบทุกชั้นเรียน ซึ่งการฝึกซ้อมช่วยให้เด็กมีสมาธิดี สามารถเรียงลำดับข้อมูลได้ดี ทำให้ผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี เด็กเก่งขึ้น เด็กบางคนก็เอาความรู้ตรงนี้ไปสอบเรียนต่อความสามารถพิเศษดนตรีไทย ที่สำคัญเด็กบางคนครอบครัวลำบาก ก็เอารายได้จากตรงนี้ไปช่วยเหลือครอบครัว ซื้อข้าวสาร ซื้อนมให้น้อง หรือเป็นทุนการศึกษาให้น้องได้ และเด็กบางคนก็เอาความรู้ตรงนี้ไปต่อยอดไปใช้บรรเลงในเรือนำเที่ยวสร้างรายได้อีกทาง”

ในส่วนของเงินที่เข้ากองทุนชมรมดนตรีไทย โรงเรียนสามชุกได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ซื้อเครื่องดนตรีไทยเพิ่มเติมให้เพียงพอสำหรับการเรียนการสอนของเด็กในปัจจุบัน, จัดสร้างอาคารเรียนดนตรีไทยเทิดไท้องค์ราชัน 1 หลัง สำหรับใช้เรียนดนตรีไทย, จัดสร้างศาลาหกเหลี่ยมสำหรับเป็นที่พักผ่อนและห้องเรียนพิเศษ, จ้างครูพิเศษช่วยดูแลเด็ก, เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมของทางโรงเรียน ส่วนที่เหลือก็นำฝากธนาคารไว้

 

ที่มา: https://soclaimon.wordpress.com/2013/09/12/หลังเสียงไพเราะที่สามช/
  https://jojothekangaroo.typepad.com/blog/2008/09/ตลาดสามชุก-บ้านควาย.html
  https://pantip.com/topic/35073452
  https://www.youtube.com/watch?v=Qsfo2mzI8uk